“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแนะประชาชนวางแผนเดินทางกลับจากการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ถ้าผู้ขับขี่รู้สึกอ่อนเพลียหรือเกิดความเครียดให้พักตามจุดบริการ ทำให้ลดความเครียดและสามารถควบคุมอารมณ์ ลดการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับจากการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่อาจเกิดความเครียดจากรถติดและมารยาทการขับขี่บนท้องถนน โดยเฉพาะผู้ที่ขับรถจะมีความเครียดอยู่แล้ว หากมีความเครียดสะสมมากๆ อาจทำให้บุคคลนั้น เสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์จนเกิดกระทบกระทั่งกันหรือระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมรุนแรงได้ ทางจิตวิทยา ถือว่าเป็นปัจจัยกระตุ้น ทั้งนี้คนส่วนใหญ่สามารถควบคุมตัวเองได้ เนื่องจากอาจมีความเครียดสะสมน้อยและมีวิธีการจัดการความเครียดที่ดีกว่า
ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนการเดินทางไม่ให้มีความเครียดสะสม เช่น การพักผ่อนนอนหลับ การคำนวณเรื่องเวลาเดินทางหรือการเลี่ยงเส้นทางที่เราคิดว่าจะเป็นปัญหา การเลือกเวลาเดินทาง โดยเฉพาะการวางแผนเดินทาง จะช่วยทำให้ปัญหาน้อยลง ซึ่งผู้ขับขี่ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ถ้าทำใจได้ก็จะไม่มีความเครียดมากเพราะไม่ได้คาดหวังอะไร และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญระหว่างเดินทาง คือถ้าผู้ขับขี่รู้สึกอ่อนเพลียหรือเกิดความเครียด ควรพักตามที่ทางหน่วยงานและท้องถิ่นจัดให้ มีจุดพักและบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่กลับมาสดชื่น จึงคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป ดีกว่าการที่จะไปหงุดหงิดวุ่นวายใจอยู่ในรถ เป็นการช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ที่สำคัญคืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพราะจะทำให้เสียการควบคุมตนเองอันเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและความรุนแรง
นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวว่า เวลาเครียดจากรถติด ถ้าเกิดการกระทบกระทั่งกัน ต้องให้อภัยเพราะหากใช้อารมณ์ฉุนเฉียวจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ หลักง่ายๆ คือ ให้กลับมาที่ลมหายใจ ด้วยการหายใจเข้ายาวๆ สัก 5 - 6 ลมหายใจ การใช้ลมหายใจจะช่วยเรียกสติคืนมา ดังนั้นจึงควรเรียนรู้วิธีการนี้ในการจัดการกับอารมณ์ ร่วมไปกับการสื่อสารที่ลดความขัดแย้ง โดยบอกความรู้สึกและความต้องการตนเองมากกว่าไปพูดตำหนิพฤติกรรมอีกฝ่าย(หรือใช้ภาษาฉันมากกว่าภาษาแก) เช่น จาก “แกทำไมถึงทำแบบนี้” เปลี่ยนเป็น “ผมไม่ได้ตั้งใจ ขอโทษที” หากยุติความขัดแย้งไม่ได้ต้องหาบุคคลที่ 3 มาช่วย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคลากรของท้องถิ่น
ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาเครียด กังวล โทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือสามารถเข้าไปประเมินความเครียดของตนเอง ทางระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข www.dmh.go.th ได้ตลอดเวลา ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะมีคำแนะนำวิธีคลายเครียดง่ายๆ
***************** 17 เมษายน 2560