“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตขอให้เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการ โดยไม่ต้องกังวลค่ารักษาเบื้องต้นใน 72 ชั่วโมงแรกไม่ว่าสิทธิใดก็ตาม หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (19 เมษายน 2560) ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ในวันนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วในภาวะวิกฤตฉุกเฉินของชีวิต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะมีแต่ละกองทุนสุขภาพเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ที่ผ่านมาพบปัญหาร้องเรียน 6 รายจากผู้ที่มาขอใช้สิทธิ 1,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นความไม่เข้าใจเรื่องหลักเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณา และจะกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป มั่นใจว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะลดลง
“สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องเข้าใจคำว่า วิกฤตชีวิต ขอให้นำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ที่อยู่ใกล้ที่สุดหรือไปถึงเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการหากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับอาการฉุกเฉินวิกฤต 6 ข้อที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ 1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว 2.อาการทางสมอง มีการรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3.หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆหรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5.อวัยวะฉีกขาดเสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น
ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1-17 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าเกณฑ์รับบริการทั้งสิ้น 715 ราย จากผู้ขอใช้สิทธิทั้งหมด 1,773 ราย มากที่สุดคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมาคือสิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนอื่นๆ ประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร 02-8721669 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ucepcenter@niems.go.th
เมษายน2/10 ****************************** 19 เมษายน 2560