กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก แถลงข่าวผลการประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพิษสุนัขบ้าจากนานาชาติ ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อเดินหน้าบูรณาการการดำเนินงานเพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกนี้ ประเทศไทยตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2563

วันนี้(28 เมษายน 2560) ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมการแถลงข่าว ภายหลังการประชุมหารือกับผู้แทนองค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพิษสุนัขบ้าจาก 25 ประเทศ  เพื่อร่วมมือกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า มีเป้าหมายกำจัดโรค
พิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยและโลกนี้ โดยประเทศไทยมียุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า การที่จะให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นปัญหาของประเทศไทย  เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรค 5 ปีย้อนหลังพบผู้ป่วยปีละไม่ถึง 10 รายแต่ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ราย ปี 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 3 ราย ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ที่พบตัวอย่างสัตว์สงสัยให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้า มากกว่าร้อยละ 7 โดยผู้ที่ถูกกัดหรือสัมผัสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทันท่วงที จะป่วยและเสียชีวิตทุกราย

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า ด้วยพระกรุณาธิคุณของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะองค์ประธาน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ด้วยพระปณิธานของพระองค์ที่ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รวมถึงพระวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวกับสุขภาพหนึ่งเดียวในการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2562 ก่อนเป้าหมาย ASEAN RABIES FREE 2020 โดยมีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันควบคุมโรค ดังนี้

1.การป้องกันโรค (Prevent) เน้นการป้องกันการเกิดโรคในคน สร้างความตระหนักให้ประชาชนปฏิบัติตนหลังถูกกัดอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการเสียชีวิต และการเลี้ยงสัตว์ อย่างรับผิดชอบ 2.การค้นหาตรวจจับความผิด (Detect) เมื่อพบผู้ป่วยสงสัย/เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า มีการลงสอบสวนควบคุมโรคโดยเร็วที่สุด 3.การตอบโต้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ (Response) ออกสอบสวนโรคร่วมกันภายใน 24 ชั่วโมง ค้นหาติดตามผู้สัมผัสโรคให้มารับการฉีดวัคซีนภายใน 48 ชั่วโมง  อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าเป็นหนึ่งในโรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที และได้วางแนวทางการป้องกันโรคไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ  2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์
โดยทันที เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ หรือสถานเสาวภาเพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

************************* 28 เมษายน  2560

 

 

 

 

 

 



   
   


View 20    28/04/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ