รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่มีอัตลักษณ์เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล ขับเคลื่อนภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 9 โครงการ โดยเป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง มีระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดี ระบบบริการที่ดี บุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข และระบบบริหารจัดการที่ดี

บ่ายวันนี้ (3 พฤษภาคม 2560)ที่ จ.นครราชสีมา พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โรงพยาบาล ที่กระทรวงสาธารณสุขสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯทุกแห่ง มีจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละโรงพยาบาล ภายใต้อัตลักษณ์เดียวกันคือ “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล”(More than Hospital) ดำเนินงานภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดี พัฒนาระบบบริการที่ดี พัฒนาบุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข และพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดี

โดยขับเคลื่อนภายใต้ 9 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการสืบสานพระราชดำริ 2.โครงการโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง 3.โครงการพัฒนาระบบคลินิกหมอครอบครัวและการดูแลสุขภาพองค์รวม 4.โครงการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล 5.โครงการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านบริการ 6.โครงการคนของแผ่นดิน 7.โครงการพัฒนาโรงพยาบาลแห่งความสุข 8.โครงการโรงพยาบาลคุณธรรม 9.โครงการสิ่งแวดล้อมสร้างเพื่อสุขภาวะ 

สำหรับโรงพยาบาลพระทองคำฯ มีผลงานที่สำคัญ มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านจิตอาสา ร่วมกับคนในชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่มจิตอาสา 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจิตอาสาประชาชน และกลุ่มจิตอาสานักเรียน เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มารับบริการให้ได้รับความสะดวกสบาย ตั้งแต่ปี 2550 คนในชุมชนบริจาคเงินทุนจัดตั้งกองทุนจิตอาสา จัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วย NCD เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถทานอาหารได้ทันที การจัดกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วย เช่น ให้ความรู้ ออกเยี่ยมบ้าน ร่วมช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความพึงพอใจเป็นอย่างมากของผู้มารับบริการ และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน 2.ด้านดูแลผู้ป่วยระยะยาว ได้รับความร่วมมือจากพระภิกษุ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ญาติผู้ป่วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประชาชน บูรณาการทุกมิติ ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียง เครื่องออกซิเจน ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ชุมชนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก 3.โรงพยาบาลที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดย ร่วมมือกับผู้นำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น จัดหาเครื่องจักรกล และปรับพื้นที่ทำสวนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสนับสนุนอาหารปลอดสารพิษ ให้กับผู้ป่วย ผลที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจ

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแบบอย่างของโรงพยาบาลชุมชนทั้งในด้านบริหาร บริการ และวิชาการที่เหมาะสมกับสภาพชุมชนในพื้นที่  มีจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละโรงพยาบาล ภายใต้อัตลักษณ์เดียวกันคือ “โรงพยาบาล  ที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล”(More than Hospital)คือ 1.เป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2.เป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ 3.เป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน 4.เป็นโรงพยาบาลที่บริการดี มีมาตรฐาน อบอุ่น เป็นกันเองผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส

*************************** 3 พฤษภาคม 2560

 


   
   


View 20    03/05/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ