“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (4 พฤษภาคม 2560) เวลา 10.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารไวทยรัตน์” ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ โดยมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยภูมิ ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กราบทูลรายงานว่า การขาดแคลนแพทย์โดยเฉพาะในชนบทเป็นปัญหาสำคัญของชาติ อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 2,057 ขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 4,225 น้อยกว่าอัตราส่วนระดับประเทศ โดยจังหวัดชัยภูมิ มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 5,077 คน ซึ่งน้อยที่สุดในเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยเริ่มรับนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 นับจนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์จบการศึกษาแล้ว 16 รุ่นจำนวน 6,955 คน ซึ่งมีคุณภาพเท่าเทียมกับการผลิตแพทย์แบบดั้งเดิม ทั้งยังมีความผูกพันกับชุมชน สามารถทำงานในชุมชนอย่างมีความสุข เห็นได้จากมีอัตราคงอยู่ในชุมชนสูงกว่าการผลิตแพทย์แบบดั้งเดิม
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลชัยภูมิเป็นโรงพยาบาลขนาด 600 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณวันละ 1,766 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยที่เหมาะในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จำนวน 61 คน สามารถทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ไปพร้อมกับการบริบาลผู้ป่วย จึงมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิก ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารีตั้งอยู่ในเขตสุขภาพเดียวกัน มีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนในชั้นปรีคลินิก
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในโรงพยาบาลชัยภูมิขึ้น เป็นแห่งที่ 37 ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทและได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 131 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกสูง 7 ชั้น ประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องหุ่นจำลองทางการแพทย์ และหอพักนักศึกษาแพทย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคารไวทยรัตน์” พร้อมทั้งเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร ทั้งนี้เพื่อใช้ในการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานและผูกพันกับชุมชน เติมเต็มในระบบบริการสุขภาพของไทย นำไปสู่ความเสมอภาคการบริการทางสังคม
ที่ผ่านมาโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556-2560 ได้ผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบปกติอีก 9,039 คน โดยเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของกระทรวงศึกษาธิการ 4,038 คน และผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มของกระทรวงสาธารณสุข 5,001 คน รองรับการขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ในสังกัดจำนวน 15,403 คนเฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชากร 4,155 คน เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ คือใน พ.ศ. 2566 จะทำให้ภาพรวมสัดส่วนการดูแลของแพทย์ต่อประชาชนดีขึ้น ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,500 คน