กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงในช่วงหน้าร้อน แนะเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อน ทำให้อาหารบูดเสียง่าย และเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ จากการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2559 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 138,595 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และโรคอุจจาระร่วง จำนวน 1,202,813 ราย พบผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย โดยในช่วงฤดูร้อนจะพบผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วง เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนราย ส่วน โรคอาหารเป็นพิษจะพบผู้ป่วย เฉลี่ยหมื่นกว่าราย สำหรับปี 2560 ตั้งแต่วันที่        1 มกราคม – 1พฤษภาคม พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวน 337,003 รายและผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 38,893 ราย

สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารทะเลที่เก็บในที่เย็นไม่เพียงพอแล้วนำมาปิ้งย่างไม่สุก หรือ อาหารที่นำมายำใส่ผักสด นอกจากนี้ ประเภท ลาบ ซึ่งไม่สุกเพียงพอ อาหารที่มีไก่และไข่เป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวมันไก่ น้ำสลัดหรือมายองเนสที่มีไข่แดงดิบเป็นส่วนประกอบ เพราะในไก่และไข่ที่ไม่สุกอาจจะมีเชื้อแซลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วงได้ นอกจากนี้ อาจเกิดจากน้ำดื่มหรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร

นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า มี 5 วิธีที่ประชาชนสามารถป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคโดย 1.ปรุงอาหารให้สุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ 2.เพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ 3.อาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นแนะอุ่นก่อนรับประทาน หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน 4.ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค 5. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

 อย่างไรก็ตาม โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการ คล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำหากอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค  โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

*********************  7 พฤษภาคม 2560

 

 

 

 

 

 



   
   


View 30    07/05/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ