เช้าวันนี้ (16 ตุลาคม 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่สถานีอนามัยท่าดินแดง ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ และวัดโพธิ์เผือก ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา และเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ที่หมู่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยได้นำยาสามัญประจำบ้านไปมอบให้ชาวบ้านแห่งละ 1,000 ชุดด้วย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ขณะนี้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ ได้แก่ ผักไห่ บางไทร บางปะอิน โดยท่วมสูงสุดที่ อ.บางบาล และ อ.เสนา ระดับน้ำสูง 40 เซนติเมตร 2 เมตร ส่วนที่อ่างทองท่วมที่ อ.ป่าโมก และ อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับของทั้ง 2 จังหวัดมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ตั้งงบประมาณไว้ 12 ล้านบาทเศษ เพื่อเตรียมสำหรับจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ใช้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชน
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง แผนการควบคุมป้องกันโรคในระยะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม และการขนย้ายเวชภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์สถานบริการสาธารณสุขเพื่อป้องกันความเสียหาย โดยส่วนกลางได้ตั้งวอร์รูมหรือศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว อยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินติดตามสถานการณ์ ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง ได้สำรองงบสนับสนุน ไว้ 10 ล้านบาท และสำรองยาชุดช่วยเหลือน้ำท่วมอีก 4 แสนชุด ยืนยันว่าปีนี้มีความพร้อมเต็มที่ ไม่มีปัญหาขาดแคลนยาแน่นอน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย ร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน จนถึงวันนี้ ได้รับรายงานผู้เจ็บป่วยแล้ว 11,232 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด รองลงมาเป็นโรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน อีกร้อยละ 7 มีภาวะเครียด ที่เหลือเป็นโรคอุจจาระร่วง อุบัติเหตุเล็กน้อย ตาแดง และถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาตำราหลวงและยาชุดน้ำท่วมแก่พื้นที่ประสบภัยเพิ่มรวม 36,000 ชุด และกำชับให้ออกบริการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และเร่งปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ที่น้ำลด เพื่อป้องกันโรคระบาด เช่น โรคอุจจาระร่วงที่มากับน้ำและอาหาร โรคฉี่หนู
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่มักพบในช่วงน้ำท่วม คือการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ประชาชนไม่ควรลงไปเล่นน้ำ หรือหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วม ไม่ว่าน้ำจะลึกหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดอาการอย่างกะทันหันจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เนื่องจากการจมน้ำจะทำให้เสียชีวิตได้เร็วมาก ประมาณ 3-4 นาทีเท่านั้น ขอให้ประชาชนที่ใช้เรือเป็นพาหนะเดินทาง เตรียมห่วงยาง ยางในรถที่เติมลมแล้ว หากไม่มีให้ใช้แกลลอนน้ำมันเปล่า หรือลูกมะพร้าวแห้ง ผูกมัดติดกัน 2 ลูก ติดเรือไว้ หากเรือพลิกคว่ำสามารถพยุงตัวลอยน้ำได้
นอกจากนี้ ขอให้ช่วยกันสำรวจเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณที่เสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ เช่น พื้นไม้ผุพังหรือมีตระใคร่น้ำขึ้น ทางเดินบนสะพานที่แคบและไม่แข็งแรง ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า มีคนจมน้ำตายจากการพลัดตก ลื่น ร้อยละ 21 ของการจมน้ำตายทั้งหมด และผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่ควรดื่มของมึนเมา เพราะช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา พบการจมน้ำจากสาเหตุนี้ถึงร้อยละ 27
********* 16 ตุลาคม 2550
View 8
16/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ