กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนานานาชาติแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ให้ได้มาตรฐาน ยั่งยืนและมีประสิทธิผล รองรับสังคมผู้สูงอายุ

         วันนี้ (7 มิถุนายน 2560) ที่ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เปิดการประชุมสัมมนาระดับชาติ ในประเด็นการดูแลระยะยาว(Regional Seminar on Long-term Care) เพื่อเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานบริการผู้สูงอายุของประเทศต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 320 คน ได้แก่ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น นักวิชาการ และหน่วยงานภาคเอกชน จากประเทศต่างๆ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ศรีลังกา มองโกเลีย และไทย

          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุที่เร็วมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศสใช้เวลาในการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่สมบูรณ์ (Aged Society) 115 ปี สวีเดน 85 ปี สหรัฐอเมริกา 72 ปี อิตาลี 63 ปี ญี่ปุ่น 26 ปี แต่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์สั้นกว่า เช่น เกาหลี ใช้เวลา 20 ปี สิงคโปร์ 17 ปี จีน 25 ปี และประเทศไทยใช้ระยะเวลาเพียง 20 ปี (2553-2573)  ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10.7 ล้านคน ส่งผลให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมคนและระบบได้ในระยะเวลาสั้น
          นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประเทศญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) มีความร่วมมือด้านวิชาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้แก่ 1.โครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย หรือเรียกย่อๆ ว่า “CTOP” และ 2.โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวันซึ่งเรียกสั้นๆว่า“LTOP” มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556 – ปี 2560 ในพื้นที่นำร่อง 6 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนการดำเนินงานประสบความสำเร็จด้วยดี
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ผลลัพธ์ของการดำเนินงานถือได้ว่า บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการ คือ 1. ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเรื่องการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ 2.“รูปแบบบริการ”ได้รับการพัฒนาและนำไปใช้ในพื้นที่โครงการนำร่องอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิผลดังที่ปรากฏในการนำเสนอผลการดำเนินงานของพื้นที่นำร่องทั้ง 6 แห่ง และ 3.มีการพัฒนา “หลักสูตรการอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ประสานงาน” ปัจจุบันได้มี การอบรม Care Manager ไปกว่า 2,000 คนทั่วประเทศ โดยผู้ที่ได้รับทุนไปอบรมที่ญี่ปุ่นในโครงการได้กลับมาจัดทำหลักสูตร และพัฒนาต่อยอดโดยกรมอนามัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช.ในการจัดการอบรมดังกล่าว และยังเป็นแนวคิดการพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้ คือ ทั้ง Care Manager และ Caregiver ให้มากขึ้น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึง
**************************  7 มิถุนายน 2560
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 31    07/06/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ