กระทรวงสาธารณสุข นำพลังข้าราชการเจ้าหน้าที่กว่า 500 คน ร่วมเปล่งเสียงต่อต้านความยากจน ร่วมบันทึกกินเนสบุ๊ค เนื่องในวันขจัดความยากจนสากล วันที่ 17 ตุลาคม 2550 พร้อมกับชาวโลกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยสหประชาชาติเรียกร้องชาวโลก โดยเฉพาะภาครัฐให้หันมาแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง
เช้าวันนี้ (17 ตุลาคม 2550) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกว่า 500 คน ร่วมแสดงเจตจำนงต่อสู้และเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง เนื่องในวันขจัดความยากจนสากล ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปี ในปีนี้ได้ให้ทั่วโลกจัดกิจกรรมลุกขึ้นยืนพร้อมกันในหน่วยงาน ตามโครงการ Global STAND UP and SPEAK OUT เพื่อมุ่งหมายให้เป็นสัญญาลักษณ์และเป็นที่สนใจต่อสาธารณชน โดยเฉพาะภาครัฐให้หันมาสนใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า ในปีนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ Global STAND UP and SPEAK OUT อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดกิจกรรมลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เพื่อร่วมบันทึกสถิติโลกในกินเนสบุ๊ค และตั้งเป้าหมายที่จะทำลายสถิติโลก จากเดิมที่เคยทำไว้ครั้งแรกในปี 2549 จำนวน 23.5 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน ในปี 2550 โดยองค์การสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาความยากจน และเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ภายในพ.ศ. 2558
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า ความยากจน ไม่ได้จำกัดแต่เพียงการมีรายได้น้อย และการบริโภคน้อยเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิขาดเสียง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยง และความหวาดกลัว โดยรัฐบาลไทยขณะนี้ได้แก้ไขปัญหาความยากจน โดยมุ่งที่สุขภาพประชาชน ให้มีสุขภาพแข็งแรง เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยประกาศใช้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้การรักษาพยาบาลฟรีในผู้ที่มี่หลักประกันสุขภาพใดๆ และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะนี้มีคนไทยอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพทั้งหมด 49 ล้านคน ทำให้ประชาชนไม่ต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล และในปี 2551 นี้รัฐบาลได้จัดอัตราเหมาจ่ายรายหัวให้ 2,100 บาทต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ ตัวแปรด้านสุขภาพของคนไทยที่ผ่านมาพบว่า ในกลุ่มคนจนมักจะป่วยตายด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนมากกว่ากลุ่มคนรวย ในขณะเดียวกันสุขภาพอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความยากจน เพราะนอกจากสมาชิกที่เจ็บป่วยจะไม่สามารถช่วยในการผลิตและหารายได้ให้แก่ครัวเรือนแล้ว ยังเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูแก่ครัวเรือนด้วย ในปี 2541 พบว่าคนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถึงปีละกว่า 2.8 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9 เร็วกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีแนวโน้มว่าค่าใช้จ่ายจะลดลง และพบว่าคนจนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าคนรวยหลายเท่า
**************************************** 17 ตุลาคม 2550
View 8
17/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ