รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดัน ร่าง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสภาในอีก 2-3 อาทิตย์ หวังมีผลใช้ให้ทันก่อนปีใหม่ เชื่อจะลดปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรม การเจ็บป่วยที่มาจากเหล้าได้ผลดียิ่งขึ้น ผลการสำรวจปี 2549 พบคนไทยควักเงินซื้อเหล้า 147,186 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2548 ร้อยละ 12
วันนี้ (19 ตุลาคม 2550) ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงงาม รองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว โครงการทอดกฐินปลอดเหล้า ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2550 โดยมีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าร่วม โดยปีนี้ให้ชื่อโครงการว่า โครงการทอดกฐินปลอดเหล้า 2550 สืบสานปณิธานธรรม...หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ในช่วงเวลาที่เหลือการทำงานอีกประมาณ 3 เดือนนี้ จะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในวาระที่ 1 แล้ว ต่อไปก็จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะนำเข้าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้มีการพิจารณารับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ทันที โดยคิดว่าน่าจะทันบังคับใช้ก่อนปีใหม่นี้แน่นอน หากมีกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการลดปัญหาการบาดเจ็บการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ทั้งทางจราจร การทำร้ายร่างกายจากสาเหตุมึนเมาเหล้า รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกิดจากการขาดสติเพราะเหล้าอย่างได้ผลยิ่งขึ้น
ผลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2549 สำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มมึนเมา จำนวน 15,882,800 คน เป็นชาย 13,333,900 คน หญิง 2,548,900 คน พบในกลุ่มอายุ 15-24 ปีร้อยละ 24 อายุ 25-29 ปีร้อยละ 37 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 18 โดยมีคนดื่มทุกวันจำนวน 2,063,900 คน คิดเป็นร้อยละ 13 เป็นชาย 1,860,900 คน หญิง 203,000 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดื่มมากที่สุด จำนวน 623,100 คน จากผลสำรวจในปีเดียวกันพบครัวเรือนควักเงินซื้อเหล้าเพิ่มจาก 131,823 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 147,186 ล้านบาทในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12
ทั้งนี้ สุราทำให้เกิดโรคตามมามากมายอย่างน้อย 82 โรค เช่น โรคทางระบบประสาท ได้แก่ ความจำเสื่อม วิกลจริต ซึมเศร้า โรคมะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ มะเร็งตับ ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้หญิง เป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น การหกลม จมน้ำ รวมทั้งปัญหาการฆ่าตัวตาย การก่ออาชญากรรม และการทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบอื่น ๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยากจนลง มีปัญหาครอบครัวตามมา
************************************ 19 ตุลาคม 2550
View 8
19/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ