กระทรวงสาธารณสุข ชวนพุทธศาสนิกใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เลือกถวายอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ลดความเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เลือกสังฆทานปัจจัยในการจำพรรษาที่มีคุณภาพดี

        วันนี้ (6 กรกฎาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว “สธ.ชวนคนไทย ห่วงใยสุขภาพพระสงฆ์” ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2560 จนถึงวันออกพรรษา 5 ตุลาคม 2560  

 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2560  พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญในการทำบุญ รักษาศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่วนใหญ่จะเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา และถวายปัจจัยสำหรับพระสงฆ์ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยจะเลือกอาหารที่คิดว่าดีที่สุด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด มีไขมันสูง และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลกรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2559 มีพระสงฆ์ - สามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 ราย โรคความดันโลหิตสูง 8,520 ราย โรคเบาหวาน 6,320  ราย  โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 ราย และโรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 ราย จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้ความสำคัญกับการอาหารที่จะถวายพระสงฆ์ให้มากขึ้น

 

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำบุญตักบาตรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นิยมทำกันในช่วงวันสำคัญนี้ แต่เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน ประชาชนมักเลือกอาหารสำเร็จรูปที่หาง่ายตามท้องตลาดเพื่อใส่บาตร อีกทั้งพระสงฆ์ก็มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้มากเหมือนคนปกติ จึงพบว่าพระสงฆ์จำนวนมากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน เป็นเหตุไปสู่โรคร้ายแรงในอนาคต เช่นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ไขมันและความดันโลหิตสูง จึงควรใส่ใจเลือกอาหารใส่บาตรที่เหมาะสมซึ่งนอกจากจะเกิดกุศลผลบุญที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย  

 

 

 

 

จึงขอแนะนำประชาชนให้เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่ 1.ข้าวกล้อง   2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำเพื่อลดพลังงานส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย 3.ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย 4.ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ  ในการประกอบอาหารควรใช้วิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัดและเค็มจัด ลดขนมหวานเพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง และควรเลือกนมจืด นมพร่องมันเนยน้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อย หรือน้ำเปล่า

      

 

ด้านนายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรทั่วประเทศจำนวน 122,680 ราย พบการป่วยมากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และข้อมูลการตรวจคัดกรองในเขตกทม. -สามเณร จำนวน 6,375 ราย ของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2559  เปรียบเทียบกับปี 2549 พบว่า พระสงฆ์ - สามเณร มีสุขภาพดีลดลงจากร้อยละ 60.3 เป็นร้อยละ 52.3 และมีภาวะความเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 28.5 พบพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพได้แก่ สูบบุหรี่ เป็นโรคอ้วน และป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง                   

 

ในปีนี้ ได้มอบให้โรงพยาบาลสงฆ์ดำเนินการตามแผนงานพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ –สามเณร ประกอบด้วย การเสนอข้อมูลปัญหาสุขภาพให้เขตสุขภาพวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา จัดอบรมอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) จัดทำคู่มืออสว. คู่มือการออกกำลังกาย และคู่มือการดูแลพระสงฆ์สามเณรอาพาธ จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ สามเณรกลุ่มเสี่ยงเช่น โครงการลดน้ำหนัก ลดพุง เป็นต้น และรณรงค์ถวายอาหารที่เหมาะสมแด่พระสงฆ์ – สามเณร

          นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจการออกกำลังกายของพระสงฆ์ สามเณร พบว่ามีการออกกำลังกายจำนวนมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพียงร้อยละ 7.35 เท่านั้น ดังนั้นในการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์-สามเณร เป็นการบริหารขันธ์หรือการบริหารร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงของโรค ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1.การสร้างความทนทานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการเคลื่อนไหวแขนขาและลำตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นการเดินเร็ว หรือการก้าวสลับขาขึ้นลงบันได  2.สร้างความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ เช่นการยกน้ำหนักในท่าต่างๆการดันพื้นการดึงข้อการนอนยกเท้าขึ้นลง การนอน ลุก-นั่งเพื่อบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นต้น 3. 3.สร้างความอ่อนตัวและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นการเหยียดตัวของข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกายในขณะทำงานเช่นการก้มตัวใช้มือแตะพื้นโดยไม่งอเข่าการแอ่นตัวใช้มือแตะขาพับได้โดยไม่งอเข่าเป็นต้น

นอกจากนี้ กรมอนามัย  ได้จัดทำโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพมาเป็นตั้งแต่ปี 2552  เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์และชุมชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน/ภาคีสุขภาพ คณะสงฆ์ ชุมชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ตั้งเป้าหมายปี 2560 พระสงฆ์มีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว 2,772 แห่ง โดยปี 2560 มหาเถรสมาคม ได้มีมติพัฒนา 3 เรื่องสำคัญ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม

นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติคือการถวายสังฆทาน เพื่อเป็นปัจจัยในการจำพรรษา พบว่า มีผู้จัดทำชุดสังฆทานสำเร็จรูปไว้จำหน่าย และนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใส่ไว้รวมกัน ทั้งที่เป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง รวมกับผลิตภัณฑ์อื่น ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง เป็นต้น ซึ่ง อาจเกิดการปนเปื้อนสารอันตรายและมีกลิ่นเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร เกิดอันตรายต่อภิกษุสงฆ์ได้ จึงได้เร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อสังฆทาน

ในการซื้อถังสังฆทาน ขอให้สังเกตผลิตภัณฑ์ที่ใส่ในถัง ต้องไม่นำผลิตภัณฑ์อาหาร ยา มาใส่รวมกับผลิตภัณฑ์อื่นสังเกตภาชนะหีบห่อที่บรรจุต้องเรียบร้อยไม่ฉีกขาด และความสะอาด สังเกตฉลากควรแสดงข้อความรายละเอียดครบถ้วน เช่น เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ ส่วนประกอบ เป็นต้น ที่สำคัญควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน กรณีอาหารกระป๋อง ควรดูลักษณะกระป๋อง ต้องไม่เป็นสนิม ไม่บุบบี้หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว ดูตะเข็บหรือรอยต่อเรียบร้อย และแน่นหนา หากพบเห็นร้านที่บรรจุผลิตภัณฑ์อาหารที่หมดอายุ หรือใกล้หมดอายุในชุดสังฆทาน แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองความปลอดภัยแด่พระภิกษุสงฆ์ต่อไป

 

 

                                                                                                                 **************************************************  6 กรกฎาคม 2560                                                                   



   
   


View 33    06/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ