ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยการรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่าย แล้วไปหักออกจากเงินที่จัดสรรให้โรงพยาบาล ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ และไม่มีผลในการกระจายบุคลากร เนื่องจากโรงพยาบาลที่ขนาดเท่ากัน มีบุคลากรเท่ากัน แต่อาวุโสและอายุงานต่างกัน จะถูกหักเงินเดือนไม่เท่ากัน จึงเหลือเงินจัดบริการไม่เท่ากัน 

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การบริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัว โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 15 ปีผ่านมา โดยรวมเงินเดือนไว้แล้วไปหักออกจากงบรายหัวที่จัดสรรให้โรงพยาบาล โดยหวังผลให้มีการกระจายบุคลากรนั้น นอกจากไม่ได้มีผลต่อการกระจายบุคลากรแล้ว ยังมีผลกระทบต่อโรงพยาบาลในการจัดบริการประชาชนมาก เช่น โรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเท่ากันและมีบุคลากรเท่ากัน แต่มีบุคลากรมีอาวุโสและอายุงานมาก โรงพยาบาลชุมชนแห่งนั้นจะถูกหักเงินเดือนมากกว่า เช่นพยาบาลอาวุโส จะได้รับเงินเดือน เงินต่างๆ มากกว่าพยาบาลจบใหม่ 2-3 เท่าตัว โรงพยาบาลนั้นจึงถูกหักเงินเดือนไปมากจนแทบไม่เหลือเงินซื้อยาให้ประชาชนเพียงพอ  บางแห่งถูกหักเงินเดือนไปมากกว่าโรงพยาบาลระดับเดียวกันมากถึงปีละ 10-20 ล้านบาท รวม 15 ปีผ่านมาน่าจะถูกหักมากเกินไปถึงรวม 150-200 ล้านบาท ต้องใช้วิธีการปรับเกลี่ยช่วยเหลือกันในระดับจังหวัดและเขต

นอกจากนี้ ผลจากการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ส่งผลให้ในปี 2559 โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 441 แห่ง หรือเกือบครึ่งจากทั้งหมด 886 แห่ง ได้รับงบประมาณต่อหัวประชากร หลังหักเงินเดือนและค่าตอบแทนน้อยกว่า 1,000 บาท โดย 9 แห่งเหลืองบน้อยกว่า 100 บาท อีก 34 แห่งได้รับ 100 – 499 บาท และ379 แห่ง ได้รับ 500-999 บาท  

ส่วนการจัดสรรงบค่าเสื่อมที่ผ่านมา โดยจัดสรรร้อยละ 90 ลงไปที่โรงพยาบาลชุมชนตรง ทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม่มีงบเพียงพอในการซ่อมแซมอาคารและครุภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้  เมื่อปรับเป็นการจัดสรรไปไว้ที่เขตร้อยละ 10 ที่จังหวัดร้อยละ 20 นั้น จะทำให้นำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดสรรเพื่อซ่อมแซมตัวอาคารและครุภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่จำเป็นได้มากกว่า  ซึ่งจะมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด และในระดับเขตที่ประกอบด้วย สปสช.เขต และเขตสุขภาพสธ.ร่วมกันพิจารณา

  *********************************************  14 กรกฎาคม 2560



   
   


View 31    14/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ