รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย-ญี่ปุ่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ ยกระดับความร่วมมือในระยะยาวสำหรับพัฒนาระบบสุขภาพสู่สังคมผู้สูงอายุ ร่วมสนับสนุนประชาคมโลกให้มีสุขภาพดี เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยร้อยละ 20  ได้รับการดูแลจากผู้จัดการระบบ 8,000  คน และ ผู้ดูแลที่ได้รับการฝึกอบรม 44,000 คน 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Health Ministers Meeting) จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 ว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านประกันสุขภาพและการเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงอายุในประเทศกลุ่มอาเซียน   ซึ่งประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ การประกันสุขภาพและการพัฒนาระบบสุขภาพสู่สังคมสูงอายุ โดยประเทศไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ยกระดับความร่วมมือในระยะยาวสำหรับพัฒนาระบบสุขภาพสู่สังคมผู้สูงอายุ 
 
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดจากการสนับสนุนระดับนโยบายอย่างยั่งยืน ความทุ่มเทของบุคลากรด้านสุขภาพ การบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและชุมชน รวมถึงการสนับสนุนจากครอบครัวและผู้ป่วย เช่น การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ  รัฐบาลไทยได้สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ได้อนุมัติงบประมาณ  600 ล้านบาทในปี 2559 และ 900 ล้านบาทในปี 2560 ให้หน่วยบริการ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น บริหารและจัดสรร ให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล โดยผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
 
โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางและฝึกอบรมมาตรฐาน สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาและจัดทำแผนการดูแลส่วนบุคคล ปัจจุบันผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 หรือเกือบสองแสนคนได้รับการดูแล จากผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขในพื้นที่ (Long Term Care Manager) จำนวน  8,000  คน และผู้ดูแลได้รับการฝึกอบรม  (Care Giver) จำนวน 44,000 คน  นอกจากนี้  รัฐบาลได้บูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวงด้วยยุทธศาสตร์ 3 S คือ 1.Strong การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรง 2.Security สร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ และ3.Social Participation การมีส่วนร่วมในสังคม ให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี บรรลุเป้าหมาย “ผู้สูงวัย คือหลักชัยของสังคม”
 
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนประเทศกลุ่มอาเซียนมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพและการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ   และประเทศไทย-ญี่ปุ่น ก็มีความร่วมมือกันหลายด้าน เช่น การนำประสบการณ์ของทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถด้านประกันสุขภาพให้กับประเทศต่างๆ ความร่วมมือพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาสุขภาพโลก ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และภายใต้การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนประชาคมโลกให้มีสุขภาพดี เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง    
************************** 15 กรกฎาคม 2560
 
 
 
****************************
 


   
   


View 41    15/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ