กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำในปี 2550นี้ พบประชาชนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง 633 รายใน 23 จังหวัด เสียชีวิต 2 ราย ผลการตรวจพบเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เอลธอร์ โอกาว่า ชี้ภัยเชื้อนี้มีพิษต่อลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงเฉียบพลัน อาจเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษา พบอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ก้อย หอยแครงลวก ขอให้ประชาชนกินสุก จะปลอดภัยที่สุด วันนี้ ( 21 ตุลาคม 2550 ) ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์บุญเลิศ ลิ้มทองกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาส ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และคณะ เดินทางไปติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบผู้ป่วยในปีนี้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยได้เยี่ยมอาการของผู้ป่วยที่นอนรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น 3 ราย ซึ่งรักษาหายแล้วแต่อยู่โรงพยาบาลต่อ เนื่องจากมีโรคประจำตัว และเดินทางไปตรวจเยี่ยมตำบลบึงเนียม อ.เมือง ซึ่งพบผู้ป่วย 7 ราย และตรวจเยี่ยมการควบคุมความสะอาดของตลาดบางลำพู ในเขตเทศบาลขอนแก่น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์หรือเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การป่วยจากโรคติดต่อทางน้ำและอาหารในปี 2550 นี้ พบประชาชนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ซึ่งมีอันตราย ทำให้เสียเสียชีวิตได้จากการสูญเสียน้ำในร่างกาย ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2550 ทั่วประเทศพบแล้ว 633 รายใน 23 จังหวัด เป็นคนไทย 446 ราย พม่า 185 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นคนไทยทั้งคู่ เริ่มมีรายงานผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา โดย 5 จังหวัดที่มีการระบาดมากที่สุดได้แก่ ตาก 262 ราย รองลงมาคือขอนแก่น 221 ราย ระนอง 76 ราย นครสวรรค์ 20 ราย และมหาสารคาม 17 ราย อีก 18 จังหวัดที่เหลือพบผู้ป่วยประปราย นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า จากการตรวจวิเคราะห์เชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงครั้งนี้ พบเกิดจากเชื้อเอลธอร์ โอกาว่า (Eltor ogawa) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเชื้อโรคใหม่ ติดต่อกันได้จากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารดิบหรือปรุงแบบสุกๆดิบ ทั้งอาหารทะเลและอาหารทั่วๆไปเช่นก้อยเนื้อ น้ำตก มีความเสี่ยงอันตรายสูงที่สุด หลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2-3 วัน ร้อยละ 75 ของผู้ได้รับเชื้อ จะไม่มีอาการป่วยแต่แพร่เชื้อต่อได้ เชื้อจะออกมากับอุจจาระ อีกร้อยละ 25 มีอาการป่วย โดยเชื้อจะปล่อยพิษที่เรียกว่าเอ็นทีโรท็อกซิน (enterotoxin) ออกมา ทำให้เกิดอาการ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างเฉียบพลันจำนวนมาก โดยไม่มีอาการปวดท้อง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 50 โดยจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมง แต่หากได้รับการรักษาทันที ซึ่งขณะนี้มียารักษาหายขาด อัตราตายจะต่ำกว่าร้อยละ 1 จึงต้องให้การดูแลอย่างเข้มงวด สำหรับการควบคุมป้องกันโรค ได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการสอบสวนเพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูมทุกจังหวัดที่พบผู้ป่วยทุกในระดับจังหวัดและอำเภอ มีคณะกรรมการหลายหน่วยงานร่วมกันควบคุมป้องกันโรค เช่นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เทศบาล ฝ่ายการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนในจังหวัดที่เหลืออีก 53 จังหวัด ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน 4 เรื่องหลัก ได้แก่การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการลวกไม่ทำให้เชื้อโรคตายทั้งหมด ให้ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก ล้างมือฟอกสบู่หลังจากใช้ส้วมทุกครั้งและก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร กำจัดขยะมูลฝอยแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังต่อเนื่อง ให้รายงานทันทีเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อลงควบคุมโรคในพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ นายแพทย์ปราชญ์กล่าว ทางด้านนายแพทย์นพดล ปฏิทัศน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ที่จังหวัดขอนแก่น เริ่มพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงรายแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2550 จนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยทั้งหมด 221 ราย ไม่มีเสียชีวิต โดยมีรายงาน 9 อำเภอ มากที่สุดที่อ.กระนวนจำนวน 113 ราย รองลงมาคือที่อ.เมือง 28 ราย อ.หนองเรือ 10 ราย ส่วนที่เหลือ 6 อำเภอ พบประปราย 1-5 ราย สาเหตุหลักมาจากการกินอาหารทะเลดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะหอยแครง ปลาหมึก หลังมีรายงานผู้ป่วยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรคทั้งระดับจังหวัดและที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เพื่อวางแผนติดตามประเมินผลทุกวัน และได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคในชุมชนที่มีผู้ป่วยทุกแห่งเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านหรือผู้ที่กินอาหารร่วมกับผู้ป่วยและสังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน โดยให้อสม.เคาะประตูบ้านสอบถามอาการ รายงานทุกวัน รวมทั้งแจกคำแนะนำประชาชน 10,000 ชุด ควบคุมมาตรฐานความสะอาดตลาดสดทุกแห่ง ล้างแผงอาหารและใส่คลอรีนฆ่าเชื้อทุกวัน ตรวจเชื้อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารทุกรายทั้งอาหารดิบและอาหารสุก โดยตรวจหาเชื้อทางทวารหนักประชาชนทั้งหมด 9,000 กว่าคน พบผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการป่วยอีก 119 คนในจำนวนนี้เป็นแม่ค้าขายอาหาร 15 คน ทุกรายได้ให้กินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อติดต่อกัน 3 วันฟรี และให้หยุดขายอาหารจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อทางทวารหนัก ได้รับความร่วมมืออย่างดี ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยลดลง พบป่วยรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2550 ขณะนี้รักษาหายขาด กลับบ้านแล้ว ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ โดยยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง 6 อำเภอได้แก่ อ.เมือง น้ำพอง ซำสูง ชุมแพ หนองเรือ และกระนวน


   
   


View 6    21/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ