กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมเนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมเดินหน้าจัดการสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตั้งเป้าลดการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศลงร้อยละ 10 และโรคจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ ร้อยละ 50 ภายในปี 2564

 
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2560) ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กทม.ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.วชิระเพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดโครงการเทิดพระเกียรติ 4 กรกฎาคมเนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทยก้าวไกลไปกับไทยแลนด์ 4.0”เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือกันจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ครอบครัวและชุมชน พร้อมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 และมอบรางวัลแก่บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม “Princess Environmental Health Award” ประจำปี 2558 – 2560 รวม 5 รางวัล ซึ่งได้รับพระราชทานอักษรพระนาม จ.ภ. ลงบนเหรียญรางวัลดังกล่าว
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมเมือง ทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน เช่น หมอกควัน การปล่อยมลพิษจากโรงงาน สารเคมี ปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นแต่ขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2560 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิต 1.7 ล้านคนจากปัญหามลพิษทางอากาศ สุขอนามัย ขาดแคลนน้ำสะอาด ส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560–2564  เพื่อระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย มีพลังที่เข้มแข็งพร้อมต่อการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศลดลงร้อยละ 10 และโรคจากอาหารและน้ำเป็นสื่อลดลงร้อยละ 50 มีกลไกความร่วมมือทั้งในระดับจังหวัด ภาค และประเทศ โดยมีคณะกรรมการ/อนุกรรมการร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีระบบฐานข้อมูลกลางและสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ โรงพยาบาลชุมชน/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ 959 แห่ง ต้องพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมผ่านเกณฑ์ Green & Clean Hospital มีการคัดแยกและการจัดการขยะ 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อลดมลพิษ ลดการใช้พลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ภายในปี 2561
 
สำหรับผู้ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในปี 2558 ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิชิต สกุลพราหมณ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลและรางวัลองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครปี 2559 รางวัลบุคคลดีเด่นฯ ได้แก่ นายพิษณุ แสนประเสริฐ อดีตรองอธิบดีกรมอนามัยและปี 2560 รางวัลบุคคลดีเด่นฯได้แก่ นายธวัช  ปทุมพงษ์  อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่นรางวัลองค์กรดีเด่นฯ ได้แก่ เทศบาลตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
 **************** 17 กรกฎาคม 2560
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
****************************
 
 
 
 

 



   
   


View 21    17/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ