แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกแตกมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อัตราการเกิดโรคพบได้น้อยมาก 5 -30 ต่อ 1 ล้านประชากร แนะประชาชนที่มีความดันโลหิตสูง หมั่นตรวจสุขภาพ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม และออกกำลังกาย                      

นายแพทย์ชัยสิทธิ์ แสงทวีสิน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ อาการ "หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตก" หรือการฉีดขาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ Aorta นั้น เป็นโรคที่เกี่ยวกับผนังหลอดเลือด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แม้จะได้รับการรักษาทันท่วงทีก็ตาม โรคนี้ ถ้าไม่มีอาการอะไร แทรกซ้อน อาจจะไม่มีอาการใดๆแสดงออกมา แต่จะพบโรคโดยเอ็กซเรย์ปอด เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบฉีดสีดูเส้นเลือด ในกลุ่มที่มีอาการ อาการที่มาพบแพทย์ จะปวดที่หน้าอก ท้อง หรือไหล่แบบรุนแรง เหมือนถูกแทง หรือฉีกอวัยวะ ทำให้คนไข้ซีด ช็อก เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว  การรักษาในกรณีที่การฉีกของผนังหลอดเลือดยังไม่แตกทะลุทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัด และการสอดสายสวนเข้าหลอดเลือดเพื่อใส่ท่อลวดค้ำยันบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหา แต่ในกรณีที่มีการฉีกขาดของหลอดเลือดออกสู่ช่องอกหรือช่องท้องแล้วจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อใส่หลอดเลือดเทียมโดยมีโอกาสรอดน้อยกว่าร้อยละ 50

ทั้งนี้ จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา โรคนี้พบได้น้อยมากมีอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 5-30 ต่อ 1 ล้านประชากรโรคนี้มักเจอในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50- 70 ปี เป็นโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแข็ง สาเหตุมาจากอายุมาก หลอดเลือดเสื่อม ความดันโลหิตสูง หรือกลุ่มที่สูบบุหรี่ หรือเป็นโรคเบาหวาน ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแข็ง จนส่งผลให้หลอดเลือดอ่อนแอลง สาเหตุส่วนใหญ่ที่สามารถเกิดโรคนี้ได้ คือ "กรรมพันธุ์" หรือหลอดเลือดในร่างกายอักเสบจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่นำไปสู่การโป่งพอง หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่นำไปสู่การกระแทกที่รุนแรง จนทำให้ผนังหลอดเลือดบอบบางผิดปกติและโป่งพอง

จากการทำงานโรคหัวใจมาประมาณ 30 ปี ในไทยพบโรคในเด็กเพียง 1 รายเท่านั้น ที่สำคัญ การรักษาต้องเป็นสถานที่ที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย แนะประชาชนหมั่นตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย ลดอาหาร หวานจัด มันเค็ม หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์ โดยด่วน

 

***************** 23 กรกฎาคม 2560

 

 

 

 

 



   
   


View 25    23/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ