กระทรวงสาธารณสุขทำโครงการ“สืบสานพระเมตตาเร่งรัดค้นหาและรักษาวัณโรค” เฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยจะเร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาใน 6 กลุ่มเสี่ยง เผย รพ.มะการักษ์     จ.กาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลที่มีความโดดเด่นในการค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็วเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุม

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงาน “การป้องกัน ควบคุมวัณโรค” ที่โรงพยาบาลมะการักษ์ อ.ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงที่สุด ใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศมีผู้ป่วยวัณโรคสูง กลุ่มที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และกลุ่มที่มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง แต่ละปีไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 คน เสียชีวิตกว่า 13,800 คน ที่สำคัญคาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานมากถึง 4,500 คน ในการรักษาผู้ป่วยดื้อยาชนิดรุนแรงอาจใช้งบประมาณรัฐบาลถึง 1,200,000 บาทต่อคน
 
กระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการ “สืบสานพระเมตตาเร่งรัดค้นหาและรักษาวัณโรค” เฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 โดยจะเร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาใน 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และบุคลากรสาธารณสุข และให้ทีมหมอครอบครัวช่วยในการป้องกันควบคุมโรค ค้นหาผู้ป่วย และรักษาวัณโรคให้ครอบคลุม ปรับแนวทางการวินิจฉัยโรคให้มีความไวสูง มีการคัดกรองโดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ร่วมกับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค โดยภายในปี 2564 ตั้งเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี ให้เหลือผู้ป่วยวัณโรค 88 ต่อประชากรแสนคน
 
สำหรับโรงพยาบาลมะการักษ์  จ.กาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 240 เตียง ให้บริการคลินิกตรวจโรคทั่วไปและคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคกระดูก ,หู คอ จมูก,ตา ,สูตินรีเวช และชายวัยทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคลินิกวัณโรคที่มีความโดดเด่นด้านการค้นหาผู้ป่วย โดยมีการค้นหาผู้ป่วยด้วยวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สามารถวินิจฉัยวัณโรคจากเสมหะได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง และค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยการ x-Ray ปอด ในกลุ่ม 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สัมผัสที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้สูงอายุ และบุคลากรสาธารณสุข
 
ซึ่งจะดูแลการรักษาผู้ป่วยร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล  สนับสนุนอาหารและของใช้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี ให้เงินช่วย เหลือในรายที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ญาติผู้ป่วยช่วยดูแลการกินยา อสม.ติดตามเยี่ยมดูแลการกินยา มูลนิธิพัฒนรักษ์ ช่วยค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และรพ.สต.ติดตามเยี่ยมบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค และผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว โดยในปี 2559 พบผู้ป่วยมีผลการรักษาหายขาด ร้อยละ 67.69   เสียชีวิต ร้อยละ 24.62  ขาดยาร้อยละ 3.08 และยังอยู่ระหว่างการรักษาร้อยละ 4.61
 *******************************  24 กรกฎาคม 2560


   
   


View 26    24/07/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ