สาธารณสุข จัดทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพร้อมเครื่องมือ จ้ำเรือตรวจสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ติดค้างอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม และดูแลประชาชนที่อพยพอยู่บนไหล่ทางถนน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรง หรือทรุดหนักเพราะขาดยา พร้อมจัดทีมฉีดพ่นยุงทุกวัน
วันนี้ (23 ตุลาคม 2550) ที่จังหวัดอ่างทอง นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลอ่างทองและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ซึ่งออกให้บริการประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่วัดปลดสัตว์ ต.บ้านแห อ.เมือง โดยได้นำยารักษาโรคน้ำกัดเท้าจำนวน 5,000 ตลับ สเปรย์ฉีดรักษาโรคน้ำกัดเท้า จำนวน 300 ขวด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 300 ชุด รองเท้าบู๊ท จำนวน 300 คู่ไปแจกผู้ประสบภัยด้วย
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในวันนี้พบผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่กระจายตั้งแคมป์อยู่ริมถนน สนามกีฬา และศูนย์การเรียนรู้ของเทศบาล ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลอ่างทองพบผู้ป่วยเรื้อรังขาดนัดหมอถึงร้อยละ 40 เพราะติดน้ำท่วมบ้าน ในปีนี้จึงได้จัดทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกไปตรวจรักษาผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรง หรือทรุดหนักเพราะขาดยา โดยผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านถูกน้ำท่วม 200 ราย ขณะนี้ยังไม่มีอาการหนักแต่อย่างใด นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอ่างทอง ได้จัดทีมฉีดพ่นยุงทุกจุดที่มีประชาชนอพยพมาตั้งแคมป์ด้วยทุกวัน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน (Home Health Care) ทั้งยามปกติและเมื่อเจ็บป่วยมาโดยตลอด เพื่อส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน ให้สามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้นานที่สุด โดยให้บริการครอบคลุมด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทีมแพทย์ พยาบาล ออกเยี่ยมบ้าน และบริการดูแลสุขภาพที่บ้านอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการให้สถานบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอีกด้วย ในปี 2551 ได้ขยายการดำเนินงานสู่เครือข่ายบริการสุขภาพโรงพยาบาลทุกแห่งร้อยละ 100
ทางด้านนายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้ความช่วยเหลือประชาชนตามจุดต่างๆทั้งทางบกและทางเรือ ตั้งแต่ 25 กันยายน 2550 22 ตุลาคม 2550 จังหวัดอ่างทองได้จัดทีมเคลื่อนที่ให้บริการเชิงรุกรวม 69 ครั้ง มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 6,992 ราย โรคที่พบมาก 3 อันดับแรกคือ น้ำกัดเท้า 982 รายคิดเป็นร้อยละ 17 ปวดศีรษะ 427 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 322 รายคิดเป็นร้อยละ 6 ยังไม่พบอาการเจ็บป่วยรุนแรง ส่วนการคัดกรองด้านสุขภาพจิต จำนวน 817 ราย เนื่องจากน้ำท่วมขังติดต่อกันหลายวัน พบมีความเครียดนอนไม่หลับเพียง 23 รายคิดเป็นร้อยละ 3 ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงทำให้มีความเครียดน้อย
ทั้งนี้ จ.อ่างทองได้แจกยาชุดสามัญประจำบ้าน 6,600 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 9,000 ตลับ ถุงดำใส่ขยะ 800 กิโลกรัม คลอรีน 60 กระป๋อง รองเท้าบู๊ท 1,200 คู่ และปูนขาว 300 กิโลกรัม เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค
****************************** 23 ตุลาคม 2550
View 7
23/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ