กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพัฒนาโรงพยาบาลมาบตาพุด เป็นโรงพยาบาลทั่วไป 200 เตียง พร้อมเพิ่มคุณภาพ แพทย์เชี่ยวชาญ พยาบาลเชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์ เป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ รองรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ชี้จัดสรรตำแหน่งข้าราชการตามกรอบอัตรากำลังที่วิเคราะห์จากภาระงานจริง

นายแพทย์ธเรศ  กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวการปรับลดพยาบาลโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง (รพ.มาบตาพุด) ว่า  กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่พิเศษต่าง ๆ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดเป้าหมายแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ตั้งแต่ปี 2552 ได้จัดสรรงบประมาณและการลงทุน เพื่อขยายศักยภาพของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ระยอง (รพ.มาบตาพุด) ยกฐานะจากโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียงเป็นโรงพยาบาลทั่วไป 200 เตียง เพื่อขยายบริการสุขภาพ และเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (DHB) ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือข่ายเขตสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพระบบบริการ การจัดทำแผนพัฒนากำลังคน ให้มีแพทย์และพยาบาลเชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์ รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของพื้นที่ และปัญหาสุขภาพประชาชนที่อาจเกิดขึ้น  
 
สำหรับเรื่องอัตรากำลังพยาบาล ได้วางเป้าหมายการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายบริการเช่นกัน โดยจัดสรรตำแหน่งข้าราชการพยาบาลให้โรงพยาบาล 170 อัตรา ตั้งแต่เปิดบริการเพียง 30 เตียง ปัจจุบันแม้โครงสร้างโรงพยาบาลจะเป็นขนาด 200 เตียง แต่ใน 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยนอนพักรักษาเฉลี่ยเพียงวันละ 60-80 คน ซึ่งเป็นอัตราการใช้เตียงเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น และจากการวิเคราะห์กรอบอัตรากำลังที่กำหนดตามภาระงานพบว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีความต้องการอัตรากำลังพยาบาล 124 อัตรา โดยแบ่งเป็นภารกิจการพยาบาล 104 อัตรา ภารกิจปฐมภูมิและอื่นๆ อีก20 อัตรา และมีกรอบอัตรากำลังผู้ช่วยพยาบาลอีก 17 อัตราเพื่อแบ่งเบาภาระงานพยาบาล  อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่มีภาระงานเพิ่มขึ้นในอนาคต สามารถทำแผนความต้องการอัตรากำลังและเสนอขอขยายกรอบอัตรากำลังพยาบาลได้ ซึ่งโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สามารถมีอัตรากำลังถึง 297 อัตรา ซึ่งเป็นกรอบอัตรากำลังของกลุ่มโรงพยาบาลทั่วไประดับเดียวกัน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นแผนที่ทยอยเพิ่มในแต่ละปี 
 
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า  การที่กระทรวงฯ ต้องมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังและควบคุมการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการนั้น เป็นไปตามมาตรการการบริหารกำลังคนภาครัฐ ที่รัฐบาลมีนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกำลังคนภาครัฐ  จึงจำเป็นต้องจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่สำหรับพยาบาลตามความขาดแคลนและความจำเป็นให้กับโรงพยาบาลที่มีความขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตก่อนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และได้ให้โรงพยาบาลเร่งทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพกำลังคน และกรอบอัตรากำลัง 5 ปี ระหว่าง ปี2560-2564 เสนอกระทรวงฯ โดยด่วน
  *********************************** 8 สิงหาคม 2560
 


   
   


View 29    08/08/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ