กระทรวงสาธารณสุข ปรับแนวทางควบคุมวัณโรคของประเทศ เน้นเชิงรุกออกค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ต้องขัง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสโรค และปรับแนวทางการวินิจฉัยโรคคัดกรองด้วยการเอ็กซ์เรย์ปอด 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยเหลือ 88 ต่อประชากรแสนคนเมื่อสิ้นปี 2564

วันนี้ (21 สิงหาคม 2560) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรค ที่เรือนจำกลาง จ.นครราชสีมา และให้สัมภาษณ์ว่า วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย  แต่ละปีไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 คน  เสียชีวิตกว่า 13,800 คน  ที่สำคัญมีผู้ป่วย วัณโรคดื้อยาหลายขนานประมาณ 4,500 คน ซึ่งกลุ่มนี้ใช้งบประมาณในการรักษาสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อคน ข้อจำกัดในการควบคุมโรคคือความสามารถในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น
 
ดังนั้น เพื่อลดการป่วยและตายจากวัณโรค ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ปี 2560–2564 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564  จากปัจจุบันอยู่ที่ 171 ต่อประชากรแสนคน โดยนำกลยุทธ์องค์การอนามัยโลกมาปรับใช้ในการควบคุมโรค เน้นการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสโรค เน้นเด็กเล็กในครอบครัวผู้ป่วย และปรับแนวทางการวินิจฉัยโรคให้มีความไวสูง คัดกรองโดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ร่วมกับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคในเสมหะ
 
ดังนั้นมาตรการควบคุมวัณโรคที่สำคัญตามยุทธศาสตร์คือ 1.เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มเสี่ยง และคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงรวดเร็ว ให้เข้าถึงการรักษาและการดูแลที่เป็นมาตรฐาน  2.ลดอัตราตายในผู้ป่วยวัณโรคลง 50 เปอร์เซ็นต์ 3.เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการ ด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรค  4.ระดมทรัพยากรในการดำเนินงาน ป้องกัน ดูแลและควบคุมวัณโรค  และ 5.เร่งรัดการศึกษาวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านวัณโรค รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับการพัฒนางานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่
 
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ มุ่งเน้น “ค้นหาเร็ว รักษาเร็ว” ดำเนินการทั้งโรคเอดส์ วัณโรค และโรคระบาดตามฤดูกาล  โดยคัดกรอง แยกผู้ป่วย และปรับปรุงห้องแยกโรค พัฒนาด้านสุขาภิบาล เฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ ครอบคลุมในเรือนจำทั่วประเทศ  โดยเฉพาะวัณโรค ได้เร่งรัดคัดกรองค้นหาวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ  ด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก  หรือการเอ็กซเรย์ปอดครอบคลุมผู้ต้องขังทุกคน ผลการดำเนินงาน  ขณะนี้มีผู้ต้องขัง 287,857 คน  ได้รับการคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์แล้ว  ร้อยละ 97 ผลการตรวจพบป่วยเป็นวัณโรค 912 คน  ผลเอ็กซเรย์ปอดผิดปกติสงสัยวัณโรค 15,773 คน คิดเป็นร้อยละ 5.8 และที่เป็นห่วงคือพบผู้ป่วยวัณโรคเชื้อดื้อยาถึง 14 คน 
 
สำหรับ จ.นครราชสีมา มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำบัวใหญ่ ทัณฑสถานอุตสาหกรรมเขาพริก เรือนจำคลองไผ่ เรือนจำกลางนครราชสีมา ทัณฑสถานหญิงและเรือนจำสีคิ้ว มีผู้ต้องขัง 11,379 คน ผลเอ็กซเรย์ปอดผิดปกติสงสัยวัณโรค 486 คน โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษาอีก 57 คน
ทั้งนี้ ภายหลังการคัดกรอง ได้กำหนดแนวทางการดูแลต่อเนื่อง 5 ข้อ ดังนี้ 1.ผู้ต้องขังที่วินิจฉัยเป็น “ผู้ป่วยวัณโรค” จะขึ้นทะเบียน รักษาที่โรงพยาบาลในอำเภอ/จังหวัดที่ตั้งของเรือนจำ 2. โรงพยาบาลจะรักษาและติดตามประเมินผลตามมาตรฐาน 3.พยาบาลเรือนจำประสานการดูแลรักษากับโรงพยาบาล 4.การส่งต่อการรักษา ทั้งกรณีย้ายที่คุมขังและกรณีพ้นโทษ  ด้วยแบบฟอร์มมาตรฐานเหมือนผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป และ 5.การป้องกันการแพร่เชื้อ โดยแยกผู้ป่วยระยะแพร่ พร้อมแนะนำวิธีการใช้หน้ากากอนามัยแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล  เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไม่ว่าจะติดจากนอกหรือในเรือนจำ ได้รับการดูแลและตรวจรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ และผู้ต้องขังอื่นๆปลอดภัยจากวัณโรคช่วยยุติปัญหาวัณโรคในเรือนจำ
 
ขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการเจ็บป่วย หากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรค หากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 **************************** 21 สิงหาคม 2560
 
ภาพนิ่ง โดย ..... นายอภิวัฒน์  วินิจฉัย ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ สป.สธ.
 
 
 
 
 
 
*******************************
 


   
   


View 28    21/08/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ