รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมบอร์ดพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาตินัดแรก เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ 10 ปี เตรียมเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ พร้อมเห็นชอบ 6 คณะอนุกรรมการ 2 คณะทำงานช่วยขับเคลื่อน รวมทั้งมอบหมายทำมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร กิจการ "นวดไทย-สปา" ศึกษาการขับเคลื่อนเวชกรรมความงามไทย ไฟเขียวเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ ประสานเจรจาดึง 6 ชาติกลุ่มอ่าวอาหรับ กลุ่ม CLMV และจีน เข้ารักษาในไทย

       วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว คณะผู้บริหาร และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2568 - 2577) มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก และมีการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2.พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ 3.ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 

          นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบประเด็นต่างๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ได้แก่ การแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้มีหน่วยงานตามโครงสร้างในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ, การจัดทำข้อเสนอปรับปรุงแผนการจัดสรรงบประมาณรองรับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ, การเจรจากองทุนแห่งรัฐและประกันชีวิตเอกชนในต่างประเทศเพื่อส่งผู้ป่วยมารับการรักษาในประเทศไทย ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน กลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงจีน, การจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในกิจการนวดไทยและสปา และการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 1,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3%) และมีอัตราการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย 4.3%

            การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีมูลค่าสูง (Medical & Wellness Valley) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนชาวต่างชาติ, การจัดทำแนวทางขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และการศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2570 ตลาดเสริมความงามของไทยจะมีมูลค่าถึง 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า ด้วยจุดเด่น คือ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับและรู้จัก   ในวงกว้าง มีเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริการที่หลากหลายและอัตราค่าบริการสมเหตุสมผล 

          นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการจัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ (Thailand Wellness Awards : TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เป็น Branding เดียวทั้งประเทศ รวมถึงเห็นชอบคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนานาชาติ 6 คณะ ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล, บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ, ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, บริการวิชาการ, การจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานส่งเสริมเวชกรรมความงามและชะลอวัยของประเทศไทย และคณะทำงานเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ

************************** 18 กรกฎาคม 2567



   
   


View 121    18/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ