รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งคณะผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลก (WHO)  แสดงศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย ทั้งกลไก อสม.สอนนับคาร์บ ลดเสี่ยงโรค NCDs การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาระบบ Financial Data Hub ช่วยวางแผนบริหารการเงินการคลังระบบสุขภาพพื้นที่ชนบทห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ตามเป้าหมาย WHO

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน พร้อมด้วย นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ และ นพ.ปรัชญา มานพ รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เป็นคณะผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขไทย เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ WHO Technical Consultation on "Rural Proofing for Health Equity" ณ เมือง Limerick ประเทศไอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2568 จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อมุ่งเน้นหารือแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มักเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยาก ซึ่งประเทศไทยได้แบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่หลากหลาย โดยเฉพาะ การมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพให้กับประชาชน ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย และทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงมาก โดย อสม. ทั่วประเทศ 1.08 ล้านคน ได้ถ่ายทอดความรู้ในการกินแบบนับคาร์บ โดยใช้ “ทัพพี” เป็นสื่อในการคำนวณปริมาณคาร์บที่ควรบริโภคต่อวัน ตามนโยบาย   คนไทยห่างไกล NCDs ให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 12 ล้านคน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขและสุขภาพ โดยนำเสนอกลไกการบริหารทางการเงิน (Financing) ด้วยระบบ "Financial Data Hub" ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงินของกระทรวงสาธารณสุข มีการเชื่อมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน นำมาสู่การวิเคราะห์ วางแผน และบริหารจัดการข้อมูลด้านการเงินในระบบสุขภาพที่ชาญฉลาด ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณ เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำมาใช้ในการจัดการสุขภาพในชนบทของประเทศ ตลอดจนการดูแลกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งการเข้าร่วมการประชุมระดับโลกครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างไม่หยุดนิ่ง และความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายขององค์การอนามัยโลก

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ มาจากหน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศสมาชิก  WHO ทั้ง 6 ภูมิภาค รวม 10 ประเทศ สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย องค์กรวิชาชีพ (WONCA) องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คณะกรรมาธิการยุโรป เป็นต้น

กุมภาพันธ์/34 ************************************************************ 14 กุมภาพันธ์ 2568



   
   


View 278    14/02/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ