รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub จ่อตั้งสำนักงานดูแลโดยเฉพาะ ยกระดับหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิศษ 7 กลุ่มอาการ รวมทั้ง "สมุนไพร-ยา-อาหาร" ของไทย รุกส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับมาตรฐานเสริมความงาม อุ้มบุญ ผ่าตัดแปลงเพศกลุ่มต่างชาติ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเพิ่มการเข้าถึงยา ATMPs ของประชาชน

          วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยได้มอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และการประกาศเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ)

            นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขปี 2568 เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผ่าน 7 นโยบายสำคัญ คือ 1.การจัดตั้ง "สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)" เป็นหน่วยงานระดับกรม ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่า สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน

         2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome), โรคหัวไหล่ติด, โรคนิ้วล็อก, ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, อัมพฤกษ์อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์ 3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ" โดยผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 106 รายการ ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกเพื่อส่งเสริมให้แพทย์สั่งจ่ายยาสมุนไพร 32 รายการใน 10 กลุ่มอาการโรคที่พบบ่อยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ส่งเสริมสมุนไพรไทยและอาหารไทยต่างๆ เช่น กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ปลาส้ม/แหนมที่มีโพรไบโอติกส์-พรีไบโอติกส์ 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพราว 1.42 ล้านล้านบาท โดยเน้นประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่ จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาลในการให้บริการแพคเกจสุขภาพ พัฒนาระบบเอเยนซีขายแพคเกจสุขภาพ เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์และแพทย์ไทยในโรงแรม ซึ่งมีการนำร่องแล้วคือโมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และ Phuket Wellness Sandbox

       5.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาทและส่งออก 1.18 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ซับซ้อน ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย เบื้องต้นจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เร่งรัดกระบวนการอนุมัติอนุญาตและทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีจับคู่ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ 6.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ซึ่งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกำลังผลักดันศูนย์กลาง ATMPs ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลก ภายในปี 2570 เนื่องจากเอกชนมีความสนใจและต้องการผลักดันอุตสาหกรรม และจะหาทางออกเพื่อลดข้อกังวลของสภาวิชาชีพในการใช้ผลิตภัณฑ์ ATMPs และ 7.การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) โดยจะขับเคลื่อน 4 เรื่อง คือ เวชศาสตร์ความงาม เน้นตรวจสอบแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบเวชกรรมในไทย รวมถึงแพทย์เถื่อน คลินิกเถื่อน ยกระดับคลินิกความงามให้มีมาตรฐานระดับสากล เปิดหลักสูตรอบรมแพทย์เวชปฏิบัติความงามเป็นหลักสูตรกลางของประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหัตถการเสริมความงาม และพัฒนาระบบเอเยนซีให้สามารถโฆษณาเชิญชวนชาวต่างชาติมารับบริการได้, จิตเวชและพฤติกรรมบำบัดสำหรับชาวต่างชาติ, การอุ้มบุญและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

       "วันนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน ประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ยา" ที่ออกฤทธิ์เป็นยีน เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วย โดยปี 2568 มีเป้าหมายให้คนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงยา ATMPs ในไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมผ่านกลไกการอนุญาตวิจัยในพื้นที่ทดลอง 5 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”นายสมศักดิ์กล่าว

********** 19 กุมภาพันธ์ 2568



   
   


View 409    19/02/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ