รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการเสริมศักยภาพบุคลากรและทีมเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เพื่อการดูแลสุขภาพผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

               วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2568) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ : พัฒนาศักยภาพบุคลากรและทีม เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ปีงบประมาณ 2568 (ฮ.ศ.1446) ให้ดูแลสุขภาพผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานและมีความปลอดภัย โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยากรและบุคลากรที่ผ่านการคัดเลือกให้ปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ปี 2568 เข้าร่วมกว่า 70 คน

              นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้รับฮัจย์ที่สมบูรณ์ กระทรวงสาธารณสุขจึงบูรณาการกระบวนการดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญของหน่วยงานสาธารณสุข ตามแนวคิด “ฮัจย์ ที่สมบูรณ์เริ่มต้นด้วยการเตรียมสุขภาพที่ดี” โดยปรับระบบบริการดูแลสุขภาพทั้งก่อนไป ขณะประกอบพิธีฮัจย์ และหลังกลับจากการประกอบพิธีฮัจย์ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ทำให้ฮุจญาตมีสถานะทางสุขภาพที่ดีขึ้น มีความพร้อมจนสามารถได้ฮัจย์ที่สมบูรณ์ ถือเป็นภารกิจอันสูงสุดและมีเกียรติยิ่ง โดยในปี 2568 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สำหรับบุคลากรจำนวน 42 คน ซึ่งได้ย้ำว่านอกจากดูแลสุขภาพพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจย์แล้ว ขอให้ดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีด้วย 

         ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เป็นศาสนพิธีสำคัญของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้พี่น้องชาวมุสลิมที่มีความสามารถจะต้องประกอบพิธีฮัจย์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งแต่ละปีจะมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ไม่น้อยกว่า 13,000 คน โดยในปี 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 6,000-8,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งบุคลากร ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไปปฏิบัติราชการชั่วคราวที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดเป็นโรงพยาบาลชั่วคราวขนาด 30 เตียง บริการตรวจรักษาเบื้องต้น ตลอด 24 ชั่วโมง ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่มักกะห์และเมืองมะดีนะห์ พร้อมทั้งติดตามอาการ บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ติดตามเยี่ยมกลุ่มเสี่ยง ณ ที่พัก เยี่ยมติดตามส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งมีการปฏิบัติงานภาคสนามช่วงเวลาเข้าสู่พิธีฮัจย์ ติดตามฮุจญาตที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศมุสลิมทั่วโลก

************************ 21 กุมภาพันธ์ 2568
 



   
   


View 399    21/02/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ