2 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพเรียบร้อยแล้ว แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยได้รวดเร็ว วินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย ลดความซ้ำซ้อน ในการตรวจรักษา เผย หน่วยบริการทั่วประเทศ ร่วมเชื่อมโยงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 10,435 แห่ง

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลสุขภาพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่าน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ “หมอพร้อม”, “MOPH Refer”, และ “Imaging HUB” เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในครั้งนี้เป็นไปตามกรอบธรรมาภิบาลและมาตรการด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันมีหน่วยบริการทั่วประเทศเชื่อมโยงระเบียนประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) แล้วทั้งสิ้น 10,435 แห่ง โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีการลงนามข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (Data Sharing Agreement : DSA) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการรักษา ระหว่างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สังกัดมหาวิทยาลัย กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรการแพทย์ของทั้งสองส่วน สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านการยืนยันตัวตนตามมาตรฐานปลอดภัยระดับสูงสุด เกิดระบบตรวจสอบประวัติผู้ป่วยได้รวดเร็ว นำไปสู่การวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน รวมทั้งนำไปใช้ในการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

“การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบต่างๆ ช่วยให้แพทย์สามารถส่งต่อผู้ป่วยด้วยใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์และเข้าถึงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการด้านบริการสุขภาพในยุคปัจจุบันที่เน้นความสะดวกและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม 1,648,375 คน สามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพในการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการสาธารณสุขจากโทรศัพท์มือถือของตนเอง” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายเดชอิศม์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของภาคใต้  มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบสุขภาพ แต่ยังลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ และเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างกระทรวง นำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างระบบบริการสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชนชาวใต้และในภูมิภาคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับและสร้างเครือข่ายการบริการสาธารณสุขของประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากล และเป็นต้นแบบของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต” นายเดชอิศม์กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์มีบทบาทในการศึกษา ออกแบบระบบ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข การแพทย์ การวิจัย ตลอดจนให้คำปรึกษาและประมวลผลข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขในระดับภูมิภาค โดยมีการประสานและดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ โดยคณะทำงานร่วมกันการออกแบบและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพและข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในการบริหารจัดการข้อมูลและสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการยกระดับการบริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และปลอดภัยสูงสุด ลดภาระและระยะเวลาที่จะต้องขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  เมื่อผู้ป่วยต้องการรับการรักษาจากโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทีมแพทย์และผู้ให้การรักษาจะทราบข้อมูลรวมถึงประวัติการรักษาเดิมของผู้ป่วย ทำให้สามารถรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที 

ในส่วนของแพทย์ ระบบข้อมูลสุขภาพนี้ช่วยให้แพทย์ทราบประวัติ อาการของโรค และยาที่ผู้ป่วยเคยได้รับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลแก่แพทย์  ได้อย่างครบถ้วน อาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไร และรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง ดังนั้น การเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

กุมภาพันธ์/35-36 ************************************************************ 17 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

 



   
   


View 754    17/02/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ