รมต.จิราพร เปิดงาน Kick off มหกรรมรวมพลังเยาวชน Gen Z ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 47 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลกประจำปี 2568 เน้นนโยบายยกระดับมาตรการจัดการปัญหา การระบาดโรค ไข้มาลาเรียในพื้นที่ 8 จังหวัดชายแดนตะวันตก สู่เป้าหมายกำจัดการติดเชื้อไข้มาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม ภายในประเทศไทยปี พ.ศ. 2569
วันนี้ (25 เมษายน 2568) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระกรวงสาธารณสุข กล่าวหลังจากเป็นประธานในการเปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “ยุติมาลาเรียไปด้วยกัน ต่อยอดความมุ่งมั่น จุดพลังฝัน สร้างสรรค์สู่อนาคต” (Malaria Ends With Us: Reinvest, Reimagine, Reignite) ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียในบางพื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินการร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียแล้วจำนวน 51 จังหวัด โดยในปีนี้มี 2 จังหวัดที่ผ่านการประเมินรับรองจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสุรินทร์ และในปี 2568 นี้ มีการดำเนินการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขับเคลื่อนและยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่อนุรักษ์ โดยการการจัดตั้งหน่วยมาลาเรียเคลื่อนที่ (mobile malaria post : MMP) ในอุทยานแห่งชาติชายแดนไทยฝั่งตะวันตก จำนวน 8 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจรักษา ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียและเสริมสร้างความรู้ และทักษะในการป้องกันและควบคุมโรคไข้มาลาเรีย ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์
นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 (1 มกราคม - 23 เมษายน) พบรายงานผู้ป่วยสะสม 1,973 ราย ไม่พบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่พบใน 8 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศ กล่าวคือ ไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย ทั้งนี้ การกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศมีประเด็นท้าทาย คือ การเคลื่อนย้ายของประชากรบริเวณชายแดน และการบูรณาการงานเข้าสู่หน่วยงานท้องถิ่น ดังนั้น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยในปี 2568 ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย คือลดจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมร้อยละ 30 จากปีที่ผ่านมา และกำจัดการติดเชื้อไข้มาลาเรียชนิดฟัลซิปาลัมภายในประเทศไทยใน พ.ศ. 2569 โดยเน้นการจัดการผู้ป่วยมาตรการ 1-3-7 คือแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบประวัติผู้ป่วยเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน และตอบโต้สถานการณ์ภายใน 7 วัน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (mHealth) มาสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมรณรงค์ในปีนี้นอกจากมอบประกาศนียบัตรรับรองจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด แล้วยังมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุทิศตนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ไข้สูง 8 จังหวัดชายแดนฝั่งตะวันตก และมอบโล่เกียรติยศแสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานเครือข่ายที่ร่วมกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย รวมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่องความสำเร็จในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในลุ่มแม่น้ำโขง เสวนาภายใต้หัวข้อ หนทางการกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย และมีการจัดบูธนิทรรศการทางวิชาการจากหน่วยงานเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้จังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียทั้ง 51 จังหวัด ควรดำเนินมาตรการป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อคงสถานะจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรียไว้ รวมทั้งแนะนำให้ประชาชนที่อาศัย หรือนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย ขอให้ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง/มุ้งคลุมเปล และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต้องรีบไปพบแพทย์พร้อมทั้งแจ้งประวัติเข้าป่า ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
*************************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
25 เมษายน 2568