เตือนภัย! “บุหรี่ซอมบี้” มีส่วนผสมของยานำสลบ ภัยร้ายในรูปแบบใหม่ที่วัยรุ่นต้องระวัง
- กรมการแพทย์
- 17 View
- อ่านต่อ
สธ. โดย อย. ผสานความร่วมมือเกษตรฯ ชี้แจงผู้ค้าส่งผักและผลไม้สดทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการกำกับดูแลสารพิษตกค้างทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่ แนะรับซื้อผักและผลไม้จากโรงคัดบรรจุที่มีผลตรวจวิเคราะห์ เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับและจัดการได้ถึงต้นทางแหล่งปลูก
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร บูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างทางการเกษตรในผักและผลไม้ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ (แปลงปลูก/นำเข้า) กลางน้ำ (โรงคัดบรรจุ) และปลายน้ำ (สถานที่จำหน่าย/ผู้บริโภค) โดยดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มุ่งจัดการความเสี่ยงของสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
ผลตรวจวิเคราะห์ จากการเก็บผักและผลไม้สดในประเทศ ในปี 2566 และปี 2567 ไม่ผ่านร้อยละ 13.33 และร้อยละ 26.67 ตามลำดับ ซึ่งยังพบปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2568 อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้สด ณ โรงคัดบรรจุทั่วประเทศ เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP เบื้องต้นในพื้นที่ กทม. จำนวน 19 แห่ง ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมาตรฐาน และสรุปสถานการณ์ความปลอดภัยด้านสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร แจ้งต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลแปลงปลูกในประเทศ นอกจากนี้ อย. ได้จัดประชุมชี้แจงผู้ค้าส่ง ซึ่งเป็นห่วงโซ่ปลายน้ำในการจำหน่ายผักและผลไม้สด เช่น สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย สมาคมตลาดสดไทย และผู้แทนตลาดค้าส่งผักและผลไม้สดทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการจัดการสารเคมีตกค้าง การจำหน่ายผักผลไม้สดที่ปลอดภัย การใช้ชุดทดสอบคัดกรองสารเคมีตกค้าง การส่งเสริมและพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของผักและผลไม้สดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ตลาดค้าส่งเป็นจุดจำหน่ายที่มีความสำคัญในการกระจายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้ มีสินค้าเกษตรที่จำหน่ายผ่านตลาดกลางประมาณ 44,000 ตัน/วัน โดยแนวทางที่ผู้จำหน่ายต้องยึดถือ คือ เลือกซื้อผักและผลไม้จากโรงคัดบรรจุที่มีบัญชีแปลงปลูก หรือมีผลตรวจวิเคราะห์ เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกทั้งในประเทศหรือนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้บริโภค
*******************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 22 กุมภาพันธ์ 2568 / ข่าวแจก 111 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568